top of page

Motor Control Center   w.13,200 x h2,240 x d 640 mm. Completed with Air Circuit Breaker & Bus bar work 4,000 Amps. Capacitor Bank 75 Kvar. x 10 steps.

งานนี้เป็นการนำเอาตู้ DM.Series ของ DENCO มาทำเป็นตู้ MCC. หรือตู้ศูนย์กลางการควบคุมมอเตอร์นั่นเองในตู้ใบนี้จะรวมเอาชุดสั่งการและควบคุมมอเตอร์ทั้งหมดของ สายการผลิต จะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก มารวมกันไว้ในตู้เดียวกัน โดยตู้จะถูกแบ่งออกเป็นประตูบานเล็กๆ หลายๆประตู ที่หน้าประตูของแต่ละช่อง ก็จะมีหลอดหลอดไฟสัญญาณแสดงสถาณะการทำงานของมอเตอร์ตัวนั้น-ว่ากำลังเดิน(run)อยู่หรือหยุด(stop) หรือเกิดมีปัญหา (fault) ข้อดีของการเอาชุดควบคุมมรวมกันก็คือ " สะดวกต่อการควบคุม" ส่วนมากจะใช้ กับกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง หรือ Mass Production เช่นอุตสาหกรรมรีดเหล็ก อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมน้ำตาล ฯลฯ สำหรับตู้MCC.ชุดนี้เป็นของโรงงานผลิตกระดาษ มีมอเตอร์ในกระบวนการผลิต จำนวน 87 ชุด ตัวเมนเป็น ACB.4000 Amps.(Fix type) มีคาปาซิเตอร์ ขนาด 75 Kvar 10 steps แบบงานที่ได้รับมาค่อนข้างละเอียดเพราะOWNER เป็นผู้ให้ข้อมูลค่อนข้างละเอียด ลักษณะตู้ที่ยาวต่อเนื่องกัน 13200 มม.หรือ สิบสามเมตรยี่สิบ ได้แบ่งออกเป็น 17 ตอน โดยจะวาง in comming และ capacitor เอาไว้ตรงกลาง แล้วเดินบัสบาร์จ่ายกระแสไปยังปีกทั้งสองด้าน

เดนโก้ขออนุญาติเจ้าของโปรเจคนำเสนอภาพถ่ายประกอบเพราะMCC.มีความน่าสนใจหลายประเด็น และเป็นการออกแบบที่อยู่ในงบประมาณ การแบ่งซอยตู้เป็นสองส่วนทำให้มีความสัมพันธุ์กับการย้ายตู้เก่าออก เวลาค่อนข้างสั้น แต่แผนงานหลักที่ชัดเจน ช่วยให้ทำงานได้ทันเวลาปัญหาก็คือ ตัวเมน ACB.4,000A. ยังเดินทางมาไม่ถึงการทำงานจึงต้องขึ้นงานส่วนที่สามารถทำได้ก่อนคือ ลากเมนบัสบาร์ยาวทางด้านบนไปทั้งสองปีก ซ้ายและขวาแทป( หมายถึงการแบ่งกระแสลงมาจ่ายของแต่ละตอน) คือบัสบาร์ที่วางลงมาในแนวดิ่งของแต่ละห้อง ซึ่งจะต้องมีขนาดเพียงพอที่จะจ่ายกระแสให้กับ มอเตอร์สตาร์ทเตอร์ของแต่ละตอน note: ขออนุญาติเขียนละเอียดด้วยภาษาที่ง่ายๆเพื่อให้ท่านที่สนใจสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น สำหรับท่านที่ต้องมาเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับตู้เมนสวิชบอร์ด ฝ่ายจัดซื้อมือใหม่ และรวมถึง ฝ่ายขายและวิศวกรออกแบบที่เข้ามาใหม่ของผมเองด้วย คือผมใช้แพจเหล่านี้ สำหรับฝึกพนักงานขายและออกแบบของผมด้วย คนที่มาใหม่สัปดาห์แรกจะให้อ่านรายละเอียดต่างๆ พอมีพื้นฐานแล้วจึงให้เริ่มทำงานจริงครับ ไหนๆลงมือเขียนแล้วไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียวเขียนให้คนที่เข้ามาอ่านเข้าใจ จะได้มีความมั่นใจในการทำงานและทำงานอย่างปลอดภัยมีความสุขกันทุกคนได้กุศลกันถ้วนหน้าทั้งเจ้าของตู้ คนออกแบบ และคนเขียนครับ

ปีกซ้าย หรือครึ่งซ้ายของตู้ทั้งหมดที่เราต้องลงมือทำการผลิตก่อน ตู้ทั้งหมดใช้เวลาหลังจากเคลียแบบและรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ลงมือตัดเหล็ก พับเหล็ก เชื่อมประกอบ พ่นสี ประกอบขึ้นเป็นตู้ ใช้เวลา หนึ่งสัปดาห์สำหรับกรณีด่วนพิเศษครับเพราะเป็นลูกค้าเก่าแก่มาสิบกว่าปีแล้ว สำหรับลูกค้าใหม่ก็ยินดีครับถ้ามีกรณีเร่งด่วนแต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่เป็นไปได้ครับจากภาพทางด้านซ้ายมือ เราจะเห็นว่าตู้จะแบ่งออกเป็นตอนๆ และแต่ละตอนจะแบ่งเป็นประตูบานเล็กชุดบนสุดจะเป็นY/D Starter 22kw. แล้วก็ไล่ลงมาถึงบานล่าง เป็น Y/D Starter 45 kw.รวมกระแสแล้ว ไม่เกิน 400 แอมป์ เราก็วางบัสบาร์ ไว้ทางด้านหลัง ขนาด 400 แอมป์ " แทป" ลงมาจ่ายชุดควบคุมย่อยทั้ง หกชุด ที่ประตูหน้าก็จะ

มีหลอดไพลอตแลมป์ แสดงสถาณะของมอเตอร์ตัวนั้น

- ถ้าไฟเขียวสว่าง ก็แสดงว่ากำลังทำงานอยู่(run) 

- ถ้าไฟแดงสว่าง ก็แสดงว่า กำลังอยู่ในสถาณะหยุด (stop)

- ถ้าไฟสีเหลืองสว่าง ก็แสดงว่า มีปัญหา หรือ fault  อาจจะมาจากการ over load ผู้ควบคุมจะได้ทราบแล้วมาแก้ปัญหา

 

ส่วนเจ้าสวิชสี่เหลี่ยม มีก้านสีดำ ก็คือ ซีเลคเตอร์สวิช เอาไว้เลือกโหมดคำสั่งว่า ให้มอเตอร์ชุดนี้ ทำงานแบบ Auto หรือแบบ Manual และบิดไปที่ตำแหน่ง off ก็คือหยุดการทำงานทั้งหมด ใช้ในกรณีซ่อมบำรุงหลังจากประกอบตู้เสร็จ ได้ทำการยึดอุปกรณ์ และเดินสายคอนโทรลเป็นตัวอย่างจำนวนหนึ่งตอนจากนั้นก็เชิญเจ้าของงานหรือ owner และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาตรวจสอบส่วนที่ทำให้ชมเป็นตัวอย่างการมาตรวจสอบก่อนเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะหากว่ามีส่วนใดที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็สามารถ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบางส่วน จะช่วยลดเวลาการทำงานลงไปได้มาก รวมทั้งไม่ต้องรื้องานออกแล้วทำใหม่ซึ่งงานที่ลึกลงไปในรายละเอียดต่างๆ เมื่อลงมือประกอบจริงแล้ว ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงบ้าง เพื่อให้ผู้ใช้งานสะดวกและปลอดภัย ในตู้MCC. .ใบนี้ได้ถูกออกแบบให้ชุดควบคุมแต่ละชุด วางแยกเอาไว้บนแผ่นแพลท ซึ่งสามารถ ถอดออกมาทำการซ่อมแซมข้างนอกได้ง่าย และทิศทางการเข้าออกของสายที่จะต่อไปยังมอเตอร์แต่ละตัว ก็ถูกวาง ไว้ในตำแหน่งที่สะดวก การได้มาเห็นความคืบหน้าของงานก็ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของงานมั่นใจมาขึ้นว่าสามารถควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามหมายกำหนดการหลักได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การประกอบตู้ MCC.จะต้องมีความละเอียดในทุกขั้นตอน จากวงจรควบคุมที่ได้รับจากOwner เมื่อทำการประกอบชุดตัวอย่างให้ลูกค้าได้ตรวจสอบก่อนแล้ว ก็ยังสามารถให้ลูกค้าตรวจสอบรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญเช่นขนาด และสี ตลอดจนยี่ห้อของสายไฟฟ้าที่นำมาใช้ หางปลาแบบไหน การทำwire marker และ name plate เมื่อรายละเอียดต่างๆถูกต้อง และเข้าใจตรงกันแล้ว ทีมงานก็ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ของห้องต่างๆได้อย่างมั่นใจ แบ่งหน้าที่กัน เช่นบางส่วนยึดอุปกรณ์ บางส่วนเดินสายคอนโทรล และ Metering

ในส่วนของงานบัสบาร์ทองแดง ก็มีทีมงานอีกชุดหนึ่งซึ่งมีความชำนาญในการดัด และวางบัสบาร์ ขนาดของบัสบาร์ และกระแส เราอิงตามมาตรฐานของสากล บ้านเราในเรื่องของตู้ไฟฟ้า เราจะอิงกับหลายมาตรฐาน ทั้งอเมริกัน ยุโรปและญี่ปุ่น และที่สำคัญก็คือ การวางตำแหน่งของกราวด์บาร์ (G) หรือนิวตรอลบาร์ (N) ในส่วนนี้เราจะอิงกับความต้องการของ Owner หรือผู้ใช้งานเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่จะต้องทำงานกับตู้ใบนี้ไปอีกเป็นสิบปี ความสะดวกและปลอดภัยในการขยับขยายปรับปรุงหรือซ่อมบำรุงในอนาคต เราได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆจากตรงนี้มากมาย เพราะผู้ใช้งาน เป็นผู้ที่มีประสพการณ์เกี่ยวกับตู้มากที่สุด มากกว่าผู้ผลิตหรือผู้ออกแบบ เป็นอย่างมาก ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำมาปรับปรุงในการออกแบบเสมอมาอย่างต่อเนื่อง คล้ายๆกับสุภาสิตไทยที่ว่า " ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน " ก็คงประมาณว่าปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ทำตู้ตามใจผู้ใช้งานครับ

หลังจากแต่ละช่องได้จัดวางอุปกรณ์และทำการเดินสายเมนและสายคอนโทรลเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วทำการ ทดสอบการทำงาน (Function Test ) ครบทุกห้องแล้ว ก็จะตรวจสอบเรื่องของการทำเครื่องหมายหรือ wire marker ให้ตรงและถูกต้องตามวงจรเพื่อความสะดวกและถูกต้องเมื่อมีการต่อเข้ากับระบบ

ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาก็คือการแยกตู้ออกเป็นส่วนๆ เพื่อเตรียมการขนย้ายความยาวของตู้ทั้งหมดคือ 13.00 เมตร โดยห้องกลางจะเป็นห้องเมนขนาด 4000 Amps. และชุดคาปาซิเตอร์ กว้าง 2 เมตร แล้วแบ่งโหลดไปทางด้านปีกซ้ายและขวา ด้านละ 5 เมตรกว่าๆได้เตรียมการเอาไว้ตั้งแต่ตอนเขียนแบบ

ตู้จะถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วนตามความเหมาะสมของวงจรและช่วงต่อของเมนบัสบาร์ ซึ่งการต่อแต่ละช่วงจะต้องมีการตัดต่อที่ถูกต้องและเหมาะสมของแต่ละเฟส ตามภาพซ้ายมือ ในจุดต่อจะต้องมีการเว้นหน้าสัมผัส ที่เป็นเนื้อทองแดงเอาไว้และมีการสอดใส้บัสบาร์เพื่อให้หน้าสัมผัส แนบสนิท สามารถรับแรงอัดของนัต และสกรูในขนาดที่เหมาะสมกับขนาดของกระแสไฟฟ้า และแรงที่ใช้ในการขันสกรู

ตรวจสอบและ เสริมความมั่นคง ในส่วนต่างๆ เพื่อป้องกันการขยับ หรือเคลื่อนตัวขณะเดินทางการเดินทาง อยู่บนท้องถนน อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ หากต้องเบรคกระทันหัน หรือว่าตกหลุมหรือเนินสะพานเราต้องมั่นใจว่า โครงสร้างของตู้แข็งแรงพอเพียง ที่จะรักษาสภาพ ระยะ และตำแหน่งของอุปกรณ์ต่างๆ และเมนบัสบาร์ที่มีน้ำหนักรวมกันหลายตันได้

การตัดแบ่งเมนบัสบาร์ และบัสบาร์กราวด์ จะต้องพิจารณษถึงความถูกต้องทางด้านเทคนิคต่างๆการตัดต่อต้องมีเหตุมีผล ขอบเขตงานของเราก็คือ วางแบบ ผลิตตู้ ติดตั้งอุปกรณ์ และบัสบาร์ ทดสอบการทำงานแยกตู้ออกเป็นส่วนๆ ขนย้ายไปที่หน้างาน เคลื่อนตู้เข้าสถานที่ติดตั้ง ต่อบัสบาร์และสายระบบควบคุม 

ขั้นตอนแยกตู้และเตรียมการขนย้าย ใช้เวลามากพอสมควร ตู้ชุดนี้ แยกตั้งแต่เช้า เสร็จเรียบร้อยทั้งทำความสะอาด และห่อด้วยแผ่นพลาสติกก่อน ยกขึ้นรถบรรทุก ก็ใช้เวลาถึงตอนประมาณ สี่ทุ่มจึงเสร็จเป็นที่เรียบร้อย คลุมผ้าใบกันแดดกันฝน ผูกยึดตรึงอย่างแน่นหนามั่นคงผ้าพลาสติกนี้จะช่วยป้องกันความชื้น ถ้าในการเดินทางเกิดมีฝนตกลงมา เป็นการเพิ่มความมั่นใจและปกป้องอุปกรณ์ต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่ร่วมประสานงานและยินดีที่ได้ทำงานร่วมกันครับ

denco_mcc_for_scg7.jpg
denco_mcc_for_scg9.jpg
denco_mcc_for_scg5.jpg
denco_Motor_control_Center_for_SCG.paper
denco_Motor_control_Center_for_SCG.paper
denco%20wiring_edited.jpg

ตู้ศูนย์กลางการควบคุมมอเตอร์สำหรับโรงงานผลิตกระดาษ

MCC. (Motor Control Center  4,000 Amps.) 

For New Production Line

IMG_7761.jpg

AUTHOR

ประพนธ์​ ประทุมถิ่น

Chief Executive Officer

Prapon@denco.co.th

bottom of page